Peaceful City

โครงการออกแบบเมืองสันติภาพ เทศบาลเมืองตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ความเป็นมา (Introduction)

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ที่ในอดีตเป็นดินแดนปกครองตนเองราชอาณาจักรมุสลิมแห่งปัตตานี ต่อมาเมื่อปีคศ.1902 ถูกผนวกรวมเป็นอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามแล้วนั้นจึงถูกปกครองด้วยนโยบายและการบริหารจากส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งนโยบายและการบริหารจากส่วนกลางนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความไม่พอใจของคนในพื้นที่ต่อรัฐบาล เพราะนโยบายการปกครองของรัฐไม่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของประชาชน เช่น การบังคับให้ชาวมลายูพูดภาษาไทยและห้ามใช้ภาษท้องถิ่น เป็นต้น และนำมาถึงจุดแตกหักช่วงทศวรรษที่ 1950 เมื่อรัฐบาลออกนโยบายชาตินิยมในการสร้างชาติซึ่งมองว่าชาวมลายูเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องถูกเปลี่ยนใหม่ให้เหมือนคนไทยตามอุดมคติ เช่น การใช้ภาษา การแต่งกายและศาสนาที่นับถือ ถึงขนาดอพยบชาวตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเข้าสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และให้ที่ดินทำกิน ขณะที่ชาวมลายูพื้นถิ่นยังเกิดปัญหาปากท้องและขาดที่ดินทำกิน

ซึ่งนโยบายการปกครองเช่นนี้เองทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี การไม่ได้รับการยอมรับถึงการมีอยู่และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน การถูกกลืนวัฒนธรรมและนำมาสู่การเรียกร้องทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1960 และรุนแรงเรื่อยมาจนเปลี่ยนเป็นการเรียกร้องด้วยความรุนแรง จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งยังเกิดช่องว่างที่นำมาซึ่งการถูกซ้ำเติมด้วย ขบวนการค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อนของหนีภาษีและการค้ามนุษย์ ทำให้ในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายแล้วกว่า 21235 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 13550 คนและเสียชีวิตกว่า 7294 ราย ซึ่งซ้ำเติมคุณภาพชีวิตที่แย่ให้แย่กว่าเดิม ซ้ำเติมวัฒนธรรมที่กำลังหายไปให้ไม่มีใครสืบต่อ ซ้ำเติมให้ผู้คนหวาดระแวงไม่สามัคคีกัน และวนกันเป็นวัฏจักร

โครงการนี้จึงมองเห็นไปยังรากของปัญหาคือการออกนโยบายแบบรวมศูนย์ที่เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้แก่ 1.ไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน 2.เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3.ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของพื้นที่ 4.เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

เมื่อทราบถึงปัญหาในพื้นที่แล้ว จึงเอาปัญหาเหล่านั้นซ้อนลงไปและจำแนกรายพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่เกิดปัญหาประเภทใดบ้างใน 4 ข้อข้างต้น ซึ่งพบว่าบางพื้นที่มีเพียงปัญหาเดียวและบางพื้นที่มีครบทุกปัญหา แล้วจึงสรุปได้ออกมาเป็น site problem สรุปรวมปัญหาแต่ละพื้นที่

  แนวคิด (Concept) 

จากนั้นจึงกำหนดแนวคิดของโครงการนี้ซึ่งคือการกระจายอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมีกลยุทธ์และวิธีการดังนี้

  1. Make Resilience โดยมีวิธีการคือ การพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ทางธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีพ เพื่อสร้างอาชีพที่เกิดความมั่นคงของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงระดับครอบครัว
  2. Make Identity โดยมีวิธีการคือ การอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของพื้นที่เพื่อรักษาคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรมสร้างความภาคภูมิใจเพื่อสร้างความมั่นคงในระดับชุมชน
  3. Make Prevention โดยมีวิธีการคือ การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองป้องกันตนเองได้ เน้นเรื่องการจัดการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการก่อการร้าย เพื่อสร้างความมั่นคงในระดับเมือง

วางผัง (Planning)       

ต่อมาจึงออกแบบผังการจัดการพื้นที่ระดับมหภาค ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่กันชนที่มีไว้สำหรับทหารตำรวจเพื่อตรวจตราความปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย เพื่อให้อีก 3 พื้นที่ที่ประกอบด้วย พื้นที่เมืองเขตพานิชยกรรม พื้นที่การเกษตรและพื้นที่การประมงให้มีความปลอดภัย ซึ่ง 3 พื้นที่นี้เองจะเป็นพื้นที่หลักที่จะสร้างให้เกิดเมืองสันติภาพ

รายละเอียด (Details)   

เริ่มจากพื้นที่แรก คือพื้นที่หมู่บ้านชาวประมง จากปัญหาของหมู่บ้านชาวประมงที่วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านเริ่มน้อยลงจากการเข้ามาของการประมงพานิชย์ จึงส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยการออกแบบเส้นทางสินค้าประมงเอาไว้ ตั้งแต่การออกเรือประมงไปในทะเล การขึ้นสินค้าที่สะพานปลา การนำสินค้าไปขายและใช้สอยในครัวเรือนหรือการทำกระชังปลาริมน้ำในฤดูมรสุมที่ชาวบ้านไม่สามารถออกเรือไปในทะเลได้จึงกลับมาทำกระชังปลาชายฝั่ง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยเพื่อสร้างรายได้แทน และการออกแบบพื้นที่ชายหาดที่ยังขาดการใช้งานพื้นที่และไม่เชื่อมต่อกับวิถีชีวิตเป็นพื้นที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเช่น ลานตากอาหารทะเล ลานตากลูกหยี ลานตากผ้าบาติค เป็นต้น โดยเชื่อมต่อกับพื้นที่ท่องเที่ยวหาดวาสุกรีทางทิศเหนือโดยมีตลาดสินค้าพื้นถิ่นเป็นตัวกลาง เพื่อให้ชุมชนชาวประมงเกิดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้พื้นที่ จากกิจกรรมพื้นถิ่น ได้แก่ ศูนย์บริการการท่องเที่ยว สุเหร่าสำหรับการละมาดของนักท่องเที่ยว ลานนกกรงหัวจุก พื้นที่จัดกิจกรรมตกปลาสายบุรี เส้นทางแข่งเรือกอและ พื้นที่นันทนาการ

พื้นที่ที่สอง คือพื้นที่เกษตรกรรม จากปัญหาผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ ชาวบ้านบริเวณนี้จึงขายพื้นที่ทำกิน ซึ่งเกิดเป็นนาร้างและไม่เกิดกิจกรรมในพื้นที่ ส่งผลถึงเรื่องคุณภาพชีวิตและรายได้ของชาวบ้าน รวมถึงความรกร้างที่ทำให้เกิดการสุ่มโจมตีจากผู้ก่อความไม่สงบอยู่เนือง ๆ จึงพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้จากแนวคิดที่จะให้เป็นแหล่งอาหารของเมืองตลอดทั้งปี โดยมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในพื้นที่ตามฤดูกาลและพลวัตรของน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยในช่วงน้ำหลากนั้นในพื้นที่ต่ำที่สุดจะปลูกข้าวพื้นถิ่นที่เป็นข้าวต้นยาว ถัดขึ้นมาในพื้นที่ที่สูงกว่าจะปลูกข้าวเศรษฐกิจที่เป็นข้าวต้นสั้นเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จากนั้นปลูกพืชสวนผสม ปลูกสวนผลไม้และไม้เศรษฐกิจ ส่วนในช่วงน้ำแล้งนั้น ในพื้นที่ต่ำที่สุดที่ยังคงมีน้ำขังแต่มีความเค็มสูงเกินกว่าจะปลูกพืชจึงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ถัดขึ้นมาจะปลูกพืชผักท้องถิ่นที่ใช้น้ำน้อยและทนเค็ม และเมื่อมีการใช้ข้อดีจากความเค็มของน้ำ จึงมีวิธีการขจัดความเค็มของดินจากน้ำเค็มด้วย โดยวิธีการขังน้ำเพื่อดูดความเค็มในพื้นที่ต่ำและการปล่อยน้ำไหลบ่าเพื่อชะความเค็มในพื้นที่สูง

พื้นที่ที่สามซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายคือพื้นที่พานิชยกรรมและเมืองเก่า จากการถูกระบบการปกครองและนโยบายที่ปล่อยปละละเลยวัฒนธรรมพื้นถิ่นส่งผลให้เมืองและโบราณสถานไม่ถูกได้รับการดูแล ผู้คนไม่เห็นคุณค่าและอัตลักษณ์ที่มีค่าของพื้นที่ การออกแบบจึงมุ่งเน้นการการอนุรักษ์พัฒนาและส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น สร้างพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้งานร่วมกันระหว่างไทย-พุทธและไทย-มาลายู รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จากการสร้างพื้นที่การค้าอาทิ ตลาด สะพานปลา อีกทั้งยังนำวิถีชีวิตริมน้ำของชาวสายบุรีกลับมาอีกด้วย อีกทั้งยังสร้างขอบเขตส่วนตัวระหว่างชาติพันธุ์ให้มีเอกลักษณ์ตามลักษณะชาติพันธุ์นั้น ๆ

ผลของการออกแบบและแนวคิดในการจัดการโครงการ จะสามารถทำให้ผู้คนในพื้นที่เกิดความรักใคร่สมานฉันท์ จากการมีความมั่นคง ทั้งการมีพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการมีอาชีพทำกินที่ดี การมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ภาคภูมิใจ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งแนวคิดของโครงการนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยได้อีกด้วย

โครงการออกแบบเมืองสันติภาพ เทศบาลเมืองตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี


Project Location

Sai Buri, Pattani

Project Area

11,625 rai

Share this!


Designer

Sivadol Footrakul

ศิวดล ฟูตระกูล

SIVADOLFUL@HOTMAIL.COM

Sivadol Footrakul

@ssivadol